การประเมินพัฒนาการในเด็กปฐมวัย

ที่โรงเรียนอนุบาลวณลักษณ์ไม่มีการตัดเกรด เพราะเรามองว่า “นักเรียนต้องพร้อมก่อน”

การดูว่าเด็ก “พร้อม” อย่างไร เราจะประเมินพัฒนาการเด็กในทุกปีการศึกษา เพื่อให้คุณครูช่วยปรับพัฒนาการในทุกมิติ ซึ่งมีการประเมินพัฒนาการทั้งหมด 6 ด้าน ดังนี้

1. กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor)

กล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่สำคัญ คือ กล้ามเนื้อขา

  • ในเด็กเล็ก เราดูว่าเด็กพร้อมที่จะเดินหรือยัง ที่โรงเรียน เรารับนักเรียนชั้นเตรียมอนุบาลที่อายุ 18 เดือนขึ้นไป หรือเมื่อเด็กเดินได้แข็งแรงแล้ว
  • ในเด็กที่โตขึ้น ประเมินจากการเดิน วิ่ง หยุด เดินขึ้นบันได กระโดดเชือก ขี่จักรยาน เป็นต้น

ถ้าน้องไม่พร้อมในจุดไหน ทางโรงเรียนก็จะฝึกให้

การประเมินพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ จากการขี่จักรยาน

2. กล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor)

กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ กล้ามเนื้อนิ้วมือต่างๆ ทั้ง 10 นิ้ว ประเมินได้จาก

  • การจับดินสอ/สี เด็กที่พร้อมจะสามารถจับดินสอขนาดปกติได้ ถ้ายังไม่พร้อมอาจต้องปรับให้เป็นดินสอขนาดใหญ่ขึ้น จับง่ายขึ้น หรืออาจต้องใช้สีเทียนรูปทรงไข่แทน
  • การตัดกรรไกรเป็นรูปทรงต่างๆ จากง่ายไปยากขึ้น เช่น เส้นตรง ทรงเหลี่ยม ทรงกลม
  • การปั้นดินน้ำมัน
  • การร้อยเชือก การสาน
การประเมินพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก จากการจับดินสอ

3. ภาษา (Language)

เด็กสามารถสื่อสารโต้ตอบได้หรือยัง เข้าใจภาษาที่พูดหรือยัง รู้จักชื่อตัวเอง บอกความต้องการของตัวเองได้ เช่น เข้าห้องน้ำ ปวดฉี่ หิวข้าว หิวนม

  • ในเด็กเล็ก สามารถเข้าใจบริบทสั้นๆ วลีสั้นๆ ได้
  • ในเด็กโต สามารถเข้าใจประโยคที่ยากขึ้น มีความซับซ้อนขึ้น สามารถเล่าเรื่องได้หรือไม่
การประเมินพัฒนาการทางภาษา จากการถาม-ตอบ

4. การคิด (Cognition)

  • เด็กสามารถคิดหาคำตอบได้ไหม เวลาครูถาม สามารถตอบเป็นเรื่องเดียวกันได้
  • คิดเรื่องเกี่ยวกับมิติสัมพันธ์ การเชื่อมโยงได้ เช่น การต่อจิกซอว์ วาดภาพ จับคู่สี ฝึกรูปทรง การเห็นภาพแล้วเข้าใจ
  • คลังคำศัพท์ มีมากน้อยขนาดไหน
การประเมินพัฒนาการทางความคิด จากการต่อจิ๊กซอว์

5. สังคม (Social)

ปัจจุบันนี้เด็กมาจากครอบครัวขนาดเล็ก เช่น พ่อแม่-ลูกคนเดียว พอมาโรงเรียนถึงค่อยเจอกับสังคมที่โตขึ้น

โรงเรียนฯ จะดูว่านักเรียนสามารถอยู่กับครูได้หรือไม่ สื่อสารกับคุณครูได้หรือไม่ คุยกับเพื่อนได้หรือไม่ รู้จักการรอคอย เข้าคิว เล่นเป็นกลุ่ม มีการแบ่ง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

กิจกรรมภาษาอังกฤษคุณครูบูรณาการให้เด็กเรียนรู้เพลง Twinkle Little Star (ภาษา, ดนตรี) และจับกลุ่มเพื่อทำนิ้วเป็นรูปดาว (สังคม, กล้ามเนื้อมัดเล็ก)

6. การช่วยเหลือตัวเอง (ADL : Activities of Daily Living)

การช่วยเหลือตัวเองเป็นพัฒนาการที่ทางอนุบาลวณลักษณ์เน้นมากที่สุด ที่โรงเรียนฯ เรียกว่า กิจกรรมทักษะชีวิต เช่น การนั่ง กิน เดิน ยืน นอน ตื่นมาเข้าห้องน้ำ แต่งตัว แปรงฟัน ทานข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนม แกะของ ใส่รองเท้า

น้องเตรียมอนุบาลฝึกทานมักกะโรนีเอง

แนวทางการประเมินพัฒนาการเด็กในโรงเรียนอนุบาลวณลักษณ์

นอกจากการใช้คุณครูเป็นผู้ประเมินแล้ว ทางโรงเรียนยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญพัฒนาการเด็กจากบ้านพัฒนาการครูอ้อ ซึ่งรับประเมินพัฒนาการในเด็กปกติด้วย โดยจะประเมินในช่วงต้นปีการศึกษา ประมาณ 2-3 สัปดาห์แรกหลังจากเปิดเรียน

ในรายงานผลการประเมินจะบอกว่าเด็กคนไหนขาดอะไร ยังไม่สมวัยเรื่องอะไร หรือ หากสมวัยแล้ว ควรฝึกเพิ่มเติมในเรื่องอะไรบ้าง โดยคุณครูทุกท่านมีหน้าที่ฝึกพัฒนาการเด็กเพิ่มเติมให้สมวัยทุกด้าน

คุณครูจะช่วยดึงศักยภาพทั้งพรสวรรค์ และ พรแสวง

นอกจากการประเมินพัฒนาการทั้ง 6 ด้านแล้ว ที่โรงเรียนอนุบาลวณลักษณ์เราเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกันในแต่ละทักษะ โดยแบ่งทักษะออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี พลศึกษา ทักษะชีวิต ทางคุณครูมีหน้าที่ประเมินและดึงศักยภาพของเด็กเป็นรายบุคคล

  • เด็กบางคนอาจจะมีความชอบ ความถนัด หรือ มีพรสวรรค์ในบางทักษะ หรือสมวัยแล้ว ทางคุณครูจะช่วยปั้นและดึงศักยภาพให้เค้าให้ เก่ง/ดีเลิศ ต่อไปในอนาคต
  • ส่วนทักษะด้านใดที่ยังขาด ก็จะช่วยกันเติมเต็มให้สมวัยก่อน (พรแสวง)

พ่อแม่ผู้ปกครองก็มีส่วนร่วมได้

ในเรื่องของพัฒนาการเด็กปฐมวัย ทางคุณพ่อคุณแม่สามารถประเมินเด็กได้เองด้วยการสังเกตลูกๆ ของตัวเองในทุกมิติ ได้แก่ พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ภาษา ความคิด สังคม การช่วยเหลือตัวเอง แล้วช่วยกันส่งเสริม ผลักดันเด็กให้สมวัย/เก่ง/ดีเลิศได้เช่นเดียวกัน

รู้จักกับเรา โรงเรียนอนุบาลวณลักษณ์