ถอดบทเรียน การศึกษาแบบฟินแลนด์

หลังจากที่ครูจิ๊บได้เข้าอบรมการศึกษาแบบฟินแลนด์ (Phenomenon Based Learning) และได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศฟินแลนด์ สิ่งที่ได้ยินและเห็นบ่อยที่สุด คือ ระบบ “Trust” หรือการไว้ใจ การไว้ใจระบบเขามี 3 ด้านด้วยกัน

การไว้ใจให้ผู้บริหารเลือกวิถีการศึกษาในโรงเรียนได้

ไม่ได้มีกฎเกณฑ์บังคับเป็นมาตรฐานระดับชาติที่ต้องปฏิบัติตามเหมือนกัน ระบบฟินแลนด์เชื่อว่าแต่ละโรงเรียนมีจุดประสงค์และเป้าหมายในการให้การศึกษาแก่นักเรียนแตกต่างกัน และสามารถไปได้ถึงเป้าหมายในทุกโรงเรียน ถึงแม้จะมีการวัดประเมินผลที่ไม่เหมือนกัน

การไว้ใจครู

อันนี้เป็นหัวใจหลัก ครูทุกคนได้รับเกียรติ ได้รับความไว้ใจ และได้รับการยกย่องเทียบเท่า คุณหมอ หรือ ทนาย ครูทุกคนมีความตั้งใจอยากเป็นครู จบมาทางสายครูโดยตรงขั้นต่ำปริญญาโท มีการอบรม ฝึกงาน และมีการสอบแข่งขันเพื่อมาเป็นครูโดยเฉพาะ

การไว้ใจนักเรียน

ถึงแม้นักเรียนจะเล่น หรือ ทำอะไรที่นอกกรอบ ครูยังคงเชื่อ และไว้ใจว่านักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ไปด้วยวิถีของแต่ละคน เชื่อว่าคนทุกคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน สามารถเรียนรู้ เข้าใจตัวเอง ผู้อื่น และสามารถมีแนวทัศนคติเป็นบวกกับคนรอบข้างและเหตุรอบข้างได้ดีเสมอ

การศึกษา หรือ การเรียนการสอนที่เด็กจะ “ฟิน” ได้ มี 5 ข้อดังนี้

1. ต้องสนุก

สนุกที่เรียนแบบไม่กดดัน สนุกที่มีเพื่อนร่วมเรียนแบบไม่แข่งขัน สนุกที่มีครูช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน ช่วยแนะนำ ไม่ใช่สั่งๆๆๆ อย่างเดียว

2. ต้องน่าสนใจ

เนื่องจากเด็กมีความแตกต่าง และการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน ความสนใจของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน ทำอย่างไร ให้หัวข้อที่เรียนโดนใจผู้เรียน และมีวิธีการที่หลากหลายไม่น่าเบื่อ ท้าทายความสามารถของเด็กแต่ละบุคคล

3. อยู่ในช่วงเวลา และ ระยะเวลาที่เหมาะสม

การเรียนมากไปไม่ทำให้เด็กฉลาดขึ้น อาจทำให้เด็กล้า และ เหนื่อยกว่าเดิม นักเรียนที่ฟินแลนด์เรียนหนึ่งวันประมาณ 5 ชั่วโมง ในขณะที่เด็กไทยเรียนในโรงเรียนแล้ว ยังต้องต่อด้วยเรียนพิเศษต่างๆ มากมายรวมถึงวันหยุดสุดสัปดาห์

4. ต้องทั่วถึง

ในหนึ่งห้องเรียน หรือ ในการทำกิจกรรม จำนวนนักเรียนต้องเหมาะสมกับกิจกรรม หรือ สภาพการเรียนรู้ นักเรียนโรงเรียนไทยส่วนมากอยู่ในอัตราส่วนที่เกินความสนใจ ดูแลไม่ทั่วถึง นักเรียนก็จะไม่สนใจผู้สอน หรือ กิจกรรมนั้นๆ

5. ไม่แข่งขันกันจนเกินไป

สังคมไทยมักชี้วัดด้วยเกรด หรือคะแนนนักเรียน หากแต่การศึกษาฟินแลนด์จะไม่มีเกรดเฉลี่ย ให้มาอวดประชันหรือสร้างความอับอายให้แก่เด็ก เด็กทุกคนต่างแข่งกับตัวเอง พยายามสร้างสรรค์งานให้ออกมาดีที่สุด เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้มากกว่าตัวเลขบนสมุดพก

ปัจจุบันนี้ การศึกษาทุกแนว ทุกระบบ มีข้อดี ข้อเสีย และอยู่ที่ว่าอยู่ในระบบประเทศ สังคมแบบใด แต่ไม่ว่าการศึกษาแบบใด จะสำเร็จได้ต้องมีความช่วยเหลือ และสนับสนุนกันโดยรวมทุกฝ่าย ไม่ใช่จะโยนหน้าที่ไปให้คุณครู หรือ โรงเรียนอย่างเดียว

สิ่งที่ทำให้การศึกษาฟินแลนด์ประสบความสำเร็จ คือ มาตรฐานคุณภาพของคน และครอบครัวโดยรวม พื้นฐานชีวิต การอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่สู่รุ่นลูก รุ่นหลาน การให้ความสนใจ ใส่ใจต่อเด็กวัยก่อนวัยเรียนและทุกวัย การที่รัฐบาลพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้คุณภาพประชากรอยู่ในเกณฑ์สูงมาก และการวางแผนระบบที่ดีและต่อเนื่องระยะยาว

หากกลับมามองวันนี้การศึกษาไทยยังห่างไกลนัก เราทุกคนทำได้แต่หน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ผู้ปกครองทุกท่านอ่านแล้วก็ลองค่อยๆ นึก และวางแผนว่า ถ้าอยากให้ลูก “ฟิน” ในการเรียน เราจะวางแผนลูกเราอย่างไรดี…เริ่มต้นวันนี้ที่บ้าน

เผยแพร่ครั้งแรก 19 กันยายน 2560 เพจ GPS by วณลักษณ์

8 ปัจจัยในการเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกรัก